中国少数民族 ชนกลุ่มน้อยจีน :朝鲜族 เผ่าเฉาเสี่ยน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ 朝鲜族          ชนกลุ่มน้อยเผ่าเฉาเสี่ยนอาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 มณฑลคือเฮยหลงเจียง (黑龙江 Hēilónɡ jiānɡ) จี๋หลิน (吉林Jílín) และเหลียวหนิง (辽宁Liáonínɡ) นอกจากนั้นกระจัดกระจายอาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองมองเลียใน (内蒙古Nèi Měnɡɡǔ) ปักกิ่ง(北京Běijīnɡ) เซี่ยงไฮ้ (上海Shànɡhǎi) หางโจว (杭州Hánɡzhōu) กว่างโจว(广州Guǎnɡzhōu) เฉิงตู (成都Chénɡdū) จี่หนาน(济南Jǐnán) ซีอาน(西安Xī’ān) อู่ฮั่น(武汉Wǔhàn) เป็นต้น ชาวเฉาเสี่ยนที่อาศัยอยู่บริเวณเขตปกครองตนเองเฉาเสี่ยน มณฑลจี๋หลิน พูดและใช้ตัวหนังสือภาษาเฉาเสี่ยน ส่วนกลุ่มที่อาศัยกระจัดกระจายตามเมืองอื่นๆ ใช้ภาษาและอักษรจีนเป็นหลัก จากการสำรวจจำนวนประชากรครั้งที่ 5 ของจีนในปี 2000 ชนกลุ่มน้อยเผ่าเฉาเสี่ยนมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 1,923,842 คน ชาวเฉาเสี่ยนเดิมทีตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เกาะเกาหลี อพยพเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีนเมื่อ 300 ปีก่อน

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ 中国朝鲜族
          ชนกลุ่มน้อยเผ่าเฉาเสี่ยนที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน มีบรรพบุรุษเป็นชาวเฉาเสี่ยนที่อพยพมาจากคาบสมุทรเกาหลี เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณสามมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน และพัฒนาเป็นชนเผ่าที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของจีน จากการสำรวจในปี 1982 พบว่า ชาวเฉาเสี่ยนที่ตั้งถิ่นฐานในจีนเหล่านี้เป็นกลุ่มชนที่มีบรรพบุรุษที่อพยพเข้ามาตั้งแต่ปลายราชวงศ์หมิงต่อกับต้นราชวงศ์ชิง เช่น ชาวเฉาเสี่ยนที่เหลียวหนิงอพยพเข้ามาเมื่อ 300 ปีที่แล้ว นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา เกิดความความแร้นแค้นและการกดขี่ทารุณทางสังคมแบบศักดินาในคาบสมุทรเกาหลี ชาวเฉาเสี่ยนจึงอพยพมาเข้าสู่พื้นที่ของประเทศจีน นับเป็นบรรพบุรุษส่วนใหญ่ของชาวเฉาเสี่ยนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1869 ตอนเหนือของเกาหลีประสบภัยอย่างหนัก จึงอพยพเข้าสู่ประเทศจีนอาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นและชาวหม่านที่เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว แต่จำนวนคนที่อพยพมาไม่มากเท่าใดนัก อีกทั้งไม่ได้มาตั้งถิ่นฐานแน่นอน ยังคงโยกย้ายไปมาระหว่างจีนกับเกาหลี จนถึงยุคที่ญี่ปุ่นรุกรานชาวเฉาเสี่ยนจึงได้อพยพเข้าสู่จีนเป็นจำนวนมากเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ แม้จะถูกรัฐบาลของราชวงศ์ชิงกีดกันและสกัดกั้นเพียงใดก็ตาม โดยอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ในปี 1870 มีชาวเฉาเสี่ยนอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมากถึง 28 หมู่บ้าน ในสมัยราชวงศ์ชิงมีประชากรชาวเฉาเสี่ยนทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นคน จนในปี 1883 ประชากรชาวเฉาเสี่ยนอพยพเข้ามาใหม่รวมกับที่มีอยู่เดิมเพิ่มขึ้นเป็นสามหมี่นเจ็ดพันคน นอกจากนี้ทางฝั่งแม่น้ำอูซูหลี่ (乌苏里江Wūsūlǐ jiānɡ)ก็มีชาวเฉาเสี่ยนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอีกเป็นจำนวนมาก

 

ในศตวรรษที่ 19 ช่วงปี 50 – 60 รัฐบาลของราชวงศ์ชิงมีนโยบายปิดกั้นการอพยพเข้ามาของชาวเฉาเสี่ยน ต่อมาเปลี่ยนนโยบายเป็นการบุกเบิกที่รกร้างว่างเปล่า โดยในปี 1881 ก่อตั้งกองบัญชาการบุกเบิกพื้นที่ขึ้นที่เมืองจี๋หลิน และได้เริ่มบุกเบิกพื้นที่ในบริเวณฮุยชุน (珲春Huī chūn) เหยียนจี๋ (延吉Yánjí) และตงโกว (东沟Dōnɡɡōu) เป็นต้น โดยจัดให้ประชาชนสามารถเข้าไปตั้งถิ่นฐานอาศัยได้ในพื้นที่ที่บุกเบิกใหม่นี้ ต่อมาไม่นาน ในปี 1885 รัฐบาลของราชวงศ์ชิงได้จัดให้บริเวณฝั่งเหนือของแม่น้ำถูเหมินยาวถึง 700 ลี้ กว้าง 50 ลี้ เป็นที่เฉพาะสำหรับให้ชาวเฉาเสี่ยนอพยพเข้าไปอยู่ ด้วยเหตุนี้เองชาวเฉาเสี่ยนจึงอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศจีนอีกเป็นจำนวนมาก จนถึงปี 1910 ญี่ปุ่นครอบครองคาบสมุทรเกาหลี และกดขี่ทารุณชาวเฉาเสียน เป็นเหตุให้ชาวเฉาเสี่ยนอพยพหลบหนีจากการควบคุมของญี่ปุ่นเข้ามาสู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจีนอีกระลอกใหญ่

 

บริเวณที่ชาวเฉาเสี่ยนตั้งถิ่นฐานอยู่นับเป็นบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นบริเวณป่าไม้ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศจีน ในระยะแรกๆ ที่ชาวเฉาเสี่ยนอพยพเข้ามายังไม่มีความเจริญใดๆ อาหารการกินส่วนใหญ่อาศัยของป่าประทังชีวิต บ้านเรือนก็สร้างอย่างง่ายๆ ด้วยไม้และหญ้าที่มีอยู่ตามป่าธรรมชาติ ทุกอย่างก่อร่างสร้างเมืองขึ้นด้วยกำลังตนเอง ไม่มีสัตว์เลี้ยงช่วยทุ่นแรง จนถึงปี 1881 ชาวเฉาเสี่ยนหักร้างถางพงถิ่นที่อยู่อาศัยขยายขอบเขตกว้างถึง 5,300 เฮกเตอร์ เมื่อมีชาวเฉาเสี่ยนอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น ก็ได้ขยายขอบเขตจับจองพื้นที่ว่างเปล่าออกไปอีกเป็น 12,000 เฮกเตอร์ เมื่อตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งมั่นคงแล้ว ชาวเฉาเสี่ยนได้เริ่มประกอบสัมมาอาชีพเดิมคือการทำนาและป่าไม้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ชาวเฉาเสี่ยนที่อำเภอทงฮว่า (通化Tōnɡ huà) มณฑลจี๋หลินเริ่มทำนาปลูกข้าวได้สำเร็จ และได้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวไปยังเมืองต่างๆอีกหลายที่เช่น หลินเจียง (临江Línjiānɡ ) หวยเหริน (怀仁Huái rén) ซิ่งจิง (兴京Xìnɡjīnɡ) หลิ่วเหอ (柳河Liǔhé) ห่ายหลง(海龙Hǎilónɡ) เป็นต้น ต่อมาในปี 1906 มีการเปิดคลองระบายน้ำระหว่างชุมชนเฉาเสี่ยนผ่านหมู่บ้านหย่งจื้อ (勇智 Yǒnɡzhì) อำเภอหลง (龙Lónɡ) ซึ่งเป็นบริเวณปลูกข้าวของชาวเฉาเสี่ยน ทำให้ผลผลิตข้าวของชาวเฉาเสี่ยนเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างฉับไว กลายเป็นบริเวณปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศจีนแห่งหนึ่ง ข้าวที่ปลูกโดยชาวเฉาเสี่ยนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่งขายทั่วประเทศและทั่วโลก สร้างเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองมากให้กับชาวเฉาเสี่ยน ชาวเฉาเสี่ยนยกฐานะขึ้นมาเป็นเจ้าของที่ดิน และผู้จ้างแรงงาน ถึงศตวรรษที่ 20 สภาพสังคมชาวเฉาเสี่ยนจัดอยู่ในระบบศักดินาเจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตนเอง ชนเผ่าอื่นหรือชาวเฉาเสี่ยนที่ยากจนกว่าต้องเช่าที่ดินทำกิน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ 中国朝鲜族

ในปี 1952 รัฐบาลจีนได้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองเฉาเสี่ยนขึ้นที่ เมืองเหยียนเปียน มณฑลจี๋หลิน(吉林省延边朝鲜族自治州Jílínshěnɡ Yánbiān Cháoxiǎn Zú zìzhìzhōu) และในปี 1958 ก่อตั้งอำเภอปกครองตนเองเฉาเสี่ยนขึ้นที่อำเภอฉางป๋าย มณฑลจี๋หลิน (吉林省长白朝鲜族自治县Jílínshěnɡ Chánɡbái Cháoxiǎn Zú zìzhìxiàn) ชาวเฉาเสี่ยนที่ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายอยู่บริเวณต่างๆ ก็เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านชาวเฉาเสี่ยนขึ้น
เพื่อพัฒนาความเจริญและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณที่ชาวเฉาเสี่ยนตั้งถิ่นฐานอยู่ รัฐบาลได้ก่อตั้งและสร้างความเจริญต่างๆ สู่เขตปกครองตนเองเฉาเสี่ยน ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรม การเกษตร การคมนาคมขนส่ง การไปรษณีย์โทรเลข เป็นต้น โดยเฉพาะในเขตปกครองตนเองเมืองเหยียนเปียนได้ก่อตั้งอุตสาหกรรมต่างๆ ขึ้นมากมาย เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน ไฟฟ้า เครื่องจักรกล โลหะต่างๆ การทอผ้า ยาง ปุ๋ยเคมี การพิมพ์ อาหาร กระเบื้อง ยา เป็นต้น กลายเป็นพื้นที่ผลิตสินค้าที่สำคัญของประเทศแห่งหนึ่ง กิจการทางการเกษตร ประมง เลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ เจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว การผลิตยาสูบเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับชาวเฉาเสี่ยนอย่างมหาศาล มีการเปิดเส้นทางรถไฟสู่จี๋หลินฉางป๋ายเพื่อลำเลียงสินค้า นำความเจริญทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีสู่ชาวเฉาเสี่ยนมาโดยตลอด

 

ด้วยประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานทั้งก่อนที่จะอพยพมา และหลังอพยพมา ชาวเฉาเสี่ยนสร้างประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามสืบทอดต่อกันมา ชาวเฉาเสี่ยนเป็นคนรักสนุก มีความสุขกับการร้องเพลงเต้นรำ ในเทศกาลที่มีอยู่มากมาย ชาวเฉาเสี่ยนจะใช้เพลงเป็นสื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตน เมื่อครอบครัวมีงานหรือมีเรื่องยินดีก็จะใช้เพลงเป็นสื่อขับขานกังวาน แสดงออกถึงความสุข จึงมักพบชาวเฉาเสี่ยนเปิดมหกรรมดนตรีในครอบครัวอยู่เป็นนิจ การดีดพิณร้องเพลง รำพัด เต้นกลองยาว ระบำเกษตร ล้วนเป็นศิลปะการร้องรำอันเป็นที่ชื่นชอบของชาวเฉาเสี่ยน การร่ายรำของชาวเฉาเสี่ยนเช่น ระบำหงส์เหิร ระบำกิ่งหลิวจูบธารา ก็เป็นที่เลืองลือถึงความงดงามอ่อนช้อยหาใดเปรียบ ท่วงทำนองเพลงของชาวเฉาเสี่ยนแสดงออกถึงความองอาจแต่สุภาพนุ่มนวล เข้มแข็งแต่งดงามสูงส่ง เพลงร้องประสานเสียงของชาวเฉาเสี่ยนเช่น เพลงชื่อ ฉางป๋ายจือเกอ 《长白之歌》Chánɡbái zhī ɡē “ บทเพลงแห่งฉางป๋าย” เพลงชื่อ กุยหนวี่จือเกอ《闺女之歌》Guīnü zhī ɡē “บทเพลงธิดางาม” มีชื่อระบือลือเลื่องถึงความไพเราะ เพลงยอดนิยมอย่างเพลง อาหลีหล่าง 《阿里朗》Ālǐlǎnɡ “อารีดัง” ก็เป็นเพลงของชาวเฉาเสี่ยนอีกเพลงหนึ่งที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

 

ชาวเฉาเสี่ยนให้ความสำคัญกับการศึกษามาก ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ได้ก่อตั้งโรงเรียนมากมาย ชาวเฉาเสี่ยนมีคติว่า “แม้จะต้องแทะเปลือกไม้กินก็ต้องให้บุตรหลานได้ศึกษาวิชาความรู้” ชาวเฉาเสี่ยนร่วมมือลงแรง ลงขันกันสร้างโรงเรียนประถมและมัธยมขึ้นด้วยตนเอง โดยในปี 1949 ได้สร้างมหาวิทยาลัยชนกลุ่มน้อยขึ้น นับเป็นมหาวิทยาลัยชนกลุ่มน้อยแห่งแรกของประเทศจีน ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเหยียนเปียน (延边大学Yánbiān Dàxué) จากนั้นมาได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นอีกมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยการแพทย์และสาธารณสุข เหยียนเปียน (延边医学院Yánbiān Yīxuéyuàn) วิทยาลัยเกษตรศาสตร์เหยียนเปียน(延边农学院Yánbiān Nónɡxuéyuàn) โรงเรียนศิลปกรรมเหยียนเปียน(延边艺术学校Yánbiān Yì shù Xuéxiào) โรงเรียนการศึกษาเหยียนเปียน (延边教育学校Yánbiān Jiàoyù Xué xiào) สถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งโดยชาวเฉาเสี่ยนเพิ่มมากขึ้นกว่า 1,000 แห่ง จากการให้ความสำคัญด้านการศึกษา และการก่อตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นมากมายนี้เอง ทำให้อนุชนเฉาเสี่ยนรุ่นหลังล้วนเต็มเปี่ยมด้วยปัญญา เป็นกำลังสำคัญในการร่วมมือกันพัฒนาความเจริญให้กับชนเผ่าและประเทศชาติสืบมา

 

ด้านวัฒนธรรมของชาวเฉาเสี่ยนมีขนบธรรมเนียมอันดีงาม ชายหญิงมีสามีภรรยาคนเดียว ชาวเฉาเสี่ยนไม่แต่งงานกับญาติใกล้ชิด ญาติสายตระกูลเดียวกัน และคนแซ่เดียวกัน เพศชายออกทำงานนอกบ้าน เพศหญิงดูแลความเป็นอยู่ในบ้าน ถือเป็นขนบธรรมเนียมที่ชาวเฉาเสี่ยนยึดถือปฏิบัติ ชาวเฉาเสี่ยนให้ความสำคัญกับการเคารพผู้ใหญ่มาก และเหยียดหยามคนที่ไม่ยึดถือความกตัญญูรู้คุณคน การสืบทอดสายตระกูลสืบทอดโดยเพศชาย โดยที่ลูกชายคนโตมีหน้าที่สืบทอด และเลี้ยงดูพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต พิธีศพของชาวเฉาเสี่ยนใช้วิธีฝัง แต่บางกลุ่มที่อาศัยกระจัดกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ใช้วิธีเผาก็มีการแต่งกายประจำเผ่าของชาวเฉาเสี่ยนสะอาดและสูงส่ง สตรีชาวเฉาเสี่ยนสวมเสื้อที่ลำตัวสั้น แต่แขนยาว สวมกระโปรงบานยาว เรียกชุดนี้ว่า เจ๋อเกาลี่ (则高利Zé Gāolì) หรือ ชี่หม่า (契玛Qìmǎ) การแต่งกายบุรุษสวมเสื้อลำตัวยาวคลุมขา สวมเสื้อกั๊กสั้นทับอีกชั้น แต่ชีวิตประจำวันในปัจจุบันชาวเฉาเสี่ยนสวมเสื้อผ้าแบบตะวันตก จะสวมชุดประจำเผ่าเมื่อมีงานพิธี หรือมีเทศกาลสำคัญๆ เท่านั้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ 中国朝鲜族

อาหารการกินของชาวเฉาเสี่ยนส่วนใหญ่คือข้าว และผักดองกิมจิ (京渍jīnɡzì) อาหารประจำคือ บะหมี่เย็น ต้มเต้าเจี้ยว เนื้อสุนัข แต่ด้วยความที่อยู่ในพื้นที่ของชาวฮั่นมานาน อาหารการกินชาวเฉาเสี่ยนก็ได้รับอิทธิพลอาหารของชาวฮั่นไปไม่น้อย

 

ชาวเฉาเสี่ยนก่อตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่ราบเชิงเขา โดยสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศใต้ หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ วัสดุที่สร้างบ้านมีสองลักษณะคือบ้านอิฐและกระเบื้อง และบ้านที่สร้างด้วยไม้แล้วใช้หญ้ามุงหลังคา กำแพงบ้านทาด้วยสีขาว ภายในบ้านมีห้องหลายห้องแบ่งเป็นห้องนอน ห้องรับแขก ห้องอาหารและห้องเก็บของ ชาวเฉาเสี่ยนนิยมถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านและนั่งบนเสื่อ ชาวเฉาเสี่ยนรักความสะอาดมาก ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านจะเก็บกวาดเช็ดถู และจัดไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
เทศกาลสำคัญของชาวเฉาเสี่ยนคล้ายกับชาวฮั่นคือมี เทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง ไหว้บะจ่าง ไหว้พระจันทร์ เทศกาลเชงเม้งจะไปไหว้สุสานบรรพบุรุษ เทศกาลไหว้พระจันทร์ก็มีการเซ่นไหว้บวงสรวงเพื่อรำลึกถึงเพื่อนเก่า นอกจากนี้ยังมีเทศกาลประจำครอบครัวที่สำคัญได้แก่ เทศกาลฉลองเด็กเกิดครบหนึ่งปี เทศกาลฉลองอายุครบหกสิบปี เทศกาลฉลองครบรอบแต่งงานหกสิบปี สำหรับการเฉลิมฉลองนั้น ชาวบ้านใกล้เคียงและเพื่อนสนิทมิตรสหายจะมาร่วมอวยพรเพื่อเลี้ยงฉลองอย่างครึกครื้น

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

การนับถือศาสนาของชาวเฉาเสี่ยนไม่ค่อยเด่นชัดนัก มีบางส่วนนับถือศาสนาพุทธ บ้างก็นับถือคริสต์ ในกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธจะมีพิธีและเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ในระยะหลังนี้เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากชาวเฉาเสี่ยนในประเทศเกาหลี ซึ่งถือเป็นประเทศบรรพบุรุษของชาวเฉาเสี่ยน ชาวเฉาเสี่ยนในประเทศจีนเริ่มนับถือศาสนาคริสต์ตามประเทศแม่มากขึ้น

เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เมชฌ สอดส่องกฤษ

 

阿昌族เผ่าอาชาง
布依族  เผ่าปู้อี (ปูเยย)
德昂族  เผ่าเต๋ออ๋าง
鄂伦春族 เผ่าเอ้อหลุนชุน
仡佬族  เผ่าเกอลาว
回族  เผ่าหุย
柯尔克孜族  เผ่าเคอร์กิส
珞巴族  เผ่าลั่วปา
蒙古族  เผ่ามองโกล
怒族  เผ่านู่
畲族  เผ่าเซอ
土族  เผ่าถู่
乌兹别克族  เผ่าอุสเบค
水族  เผ่าสุ่ย
锡伯族  เผ่าซีโป๋
瑶族  เผ่าเหยา
白族  เผ่าป๋าย
朝鲜族  เผ่าเฉาเสี่ยน
侗族  เผ่าต้ง
俄罗斯族  เผ่ารัสเซีย
哈尼族  เผ่าฮานี
基诺族  เผ่าจีนั่ว
拉祜族  เผ่าลาหู่ (ชาวมูเซอ)
满族  เผ่าหม่าน
苗族  เผ่าเหมียว
普米族  เผ่าผูหมี่
土家族  เผ่าถู่เจีย
彝族  เผ่าอี๋
保安族  เผ่าป่าวอาน
达斡尔族  เผ่าต๋าโว่ร์
东乡族  เผ่าตงเซียง
鄂温克族  เผ่าเอ้อเวินเค่อ
哈萨克族  เผ่าคาซัค
京族 เผ่าจิง
黎族  เผ่าหลี
毛南族  เผ่าเหมาหนาน
仫佬族 เผ่ามู่หล่าว
羌族 เผ่าเชียง
塔吉克族  เผ่าทาจิค
佤族  เผ่าว้า
布朗族  เผ่าปลัง
傣族  เผ่าไต
独龙族  เผ่าตรุง
高山族เผ่าเกาซาน
赫哲族  เผ่าเฮ่อเจ๋อ
景颇族  เผ่าจิ่งโพ
傈僳族  เผ่าลี่ซู
门巴族  เผ่าเหมินปา
纳西族  เผ่าน่าซี
撤拉族  เผ่าซาลาร์
塔塔尔族  เผ่าทาทาร์
维吾尔族  เผ่าอุยกูร์
裕固族  เผ่ายวี่กูร์
藏族  เผ่าทิเบต
壮族  เผ่าจ้วง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

error: Content is protected !!