ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการวิเคราะห์วรรณกรรม

การวิเคราะห์วรรณกรรม

1. ความหมายของการวิเคราะห์วรรณกรรม


การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาตรวจตรา แยกแยะและประเมินค่า ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อผู้วิเคราะห์ในการนำไปแสดงความคิดเห็น อภิปรายข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นทราบ ด้วยว่าใครเป็นผู้แต่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร มีประโยชน์อย่างไร ต่อใครบ้าง ผู้วิเคราะห์ มีความเห็นอย่างไร เรื่องที่อ่านมีคุณค่าด้านใดบ้างและแต่ละด้านสามารถนำไปประยุกต์
ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

2. แนวในการวิเคราะห์วรรณกรรม


การวิเคราะห์วรรณกรรมมีหลักเกณฑ์การปฏิบัติอย่างกว้าง ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมงานเขียนทุกประเภท แต่ละประเภท ผู้วิเคราะห์ต้องนำแนวการวิเคราะห์ไปปรับใช้ ให้เหมาะสมกับงานเขียนแต่ละชิ้นงานซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งหลักเกณฑ์กว้าง ๆ ในการวิเคราะห์วรรณกรรม มีดังนี้

  1. ความเป็นมาหรือประวัติของหนังสือและผู้แต่ง เพื่อช่วยให้วิเคราะห์ในส่วนอื่น ๆ
  2. ลักษณะคำประพันธ์
  3. เรื่องย่อ
  4. เนื้อเรื่อง ให้วิเคราะห์เรื่องในหัวข้อต่อไปนี้ตามลำดับ โดยบางหัวข้ออาจจะมี หรือไม่มีก็ได้ตามความจำเป็น เช่น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก วิธีการแต่ง ลักษณะการเดินเรื่อง การใช้ถ้อยคำ สำนวนในเรื่องท่วงทำนองการแต่ง วิธีคิดสร้างสรรค์ ทัศนะหรือมุมมองของผู้เขียน เป็นต้น
  5. แนวคิด จุดมุ่งหมาย เจตนาของผู้เขียนที่ฝากไว้ในเรื่อง ซึ่งต้องวิเคราะห์ออกมาก
  6. คุณค่าของวรรณกรรม โดยปกติแบ่งออกเป็น ๕ ด้านใหญ่ ๆ และกว้าง ๆ เพื่อความครอบคลุมในทุกประเด็น ซึ่งผู้วิเคราะห์ต้องไปแยกหัวข้อย่อยให้สอดคล้องกับลักษณะ ของหนังสือที่จะวิเคราะห์นั้น ๆ ตามความเหมาะสม


3. การวิเคราะห์คุณค่าของวรรณคดีและวรรณกรรม

ความหมายของการวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรม

การวิเคราะห์ หมายถึง การพิจารณาองค์ประกอบทุกส่วน โดยวิธีแยกแยะรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่ถ้อยคำสำนวน การใช้คำ ใช้ประโยค ตลอดจนเนื้อเรื่องและแนวคิด ทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในข้อเขียนนั้น เมื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบได้แล้ว จึงวิจารณ์ต่อไป
การวิจารณ์ หมายถึง การพิจารณาเทคนิคหรือกลวิธีที่แสดงออกมานั้นให้เห็นว่าน่าคิด น่าสนใจ น่าติดตาม มีชั้นเชิงยอกย้อนหรือตรงไปตรงมา องค์ประกอบใดมีคุณค่า
น่าชมเชย องค์ประกอบใดน่าท้วงติงหรือบกพร่องอย่างไร การวิจารณ์สิ่งใดจึงต้องใช้ความรู้ มีเหตุผล มีหลักเกณฑ์ และมีความรอบคอบด้วย
การวิจารณ์งานประพันธ์ หมายถึง การพิจารณากลวิธีต่าง ๆ ทุกอย่างที่ปรากฏในงานเขียน ซึ่งผู้เขียนแสดงออกมาอย่างมีชั้นเชิง โดยผู้วิจารณ์จะต้องแสดงเหตุผลที่จะชมเชย หรือชี้ข้อบกพร่องใด ๆ ลงไป

วิธีวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์


ตามปกติแล้วเมื่อจะวิจารณ์สิ่งใด จำเป็นต้องเริ่มวิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ให้เข้าใจ ชัดเจนเสียก่อนแล้วจึงวิจารณ์แสดงความเห็นออกมาอย่างมีเหตุผล ให้น่าคิด น่าฟังและ
เป็นคำวิจารณ์ที่น่าเชื่อถือได้
การวิจารณ์งานประพันธ์สำหรับผู้เรียนที่เริ่มต้นฝึกหัดใหม่ ๆ นั้น อาจต้องใช้เวลาฝึกหัด มากสักหน่อย อ่านตัวอย่างงานวิจารณ์ของผู้อื่นมาก ๆ และบ่อย ๆ จะช่วยได้มากทีเดียว เมื่อตัวเราเริ่มฝึกวิจารณ์งานเขียนใด ๆ อาจจะวิเคราะห์ไม่ดี มีเหตุผลน้อยเกินไป คนอื่นเขาไม่เห็นด้วย เราก็ควรย้อนกลับมาอ่านเขียนนั้น ๆ อีกครั้งแล้วพิจารณาเพิ่มเติม วิธีวิเคราะห์ วิจารณ์งานประพันธ์จึงมีลักษณะดังนี้

1.โดยเริ่มต้นที่ผู้อ่านไปอ่านงานวรรณกรรม

2.เมื่ออ่านแล้วจึงวิเคราะห์แยกแยะดูองค์ประกอบต่าง ๆ แล้วจึงวิจารณ์กลวิธีการนำเสนอ ว่าน่าสนใจหรือไม่เพียงใด แล้วผู้วิจารณ์จึงเรียบเรียงความคิดเห็นแสดงออกมาด้วยวิธีพูด หรือเขียนวิจารณ์อย่างมีเหตุผล และแม้นว่า การวิจารณ์จะสิ้นสุดแล้ว แต่ผู้อ่านก็ยังย้อนกลับมาสนใจงานประพันธ์ชิ้นเดิม แล้วเริ่มต้นวิเคราะห์วิจารณ์ใหม่ได้อีกตลอดเวลา



ประเด็นที่ใช้ในการวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าของงานวรรณคดีและวรรณกรรม


การวิเคราะห์และวิจารณ์งานประพันธ์เท่าที่พบเห็นทั่ว ๆ ไป นักวิจารณ์นิยมพิจารณากว้าง ๆ 4 ประเด็น
1) คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คือ ความไพเราะของบทประพันธ์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ ความรู้สึกและจินตนาการตามรส ความหมายของถ้อยคำและภาษาที่ผู้แต่งเลือกใช้
เพื่อให้มีความหมายกระทบใจผู้อ่าน
2) คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิดและกลวิธีนำเสนอทั้ง ๒ ประเด็นนี้ จะอธิบาย และยกตัวอย่างประกอบพอเข้าใจ โดยจะกล่าวควบกันไปทั้งการวิเคราะห์และการวิจารณ์
3) คุณค่าด้านสังคม วรรณคดีและวรรณกรรมจะสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมและวรรณคดีที่ดีสามารถจรรโลงสังคมได้อีกด้วย
4) การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันผู้อ่านสามารถนำแนวคิดและประสบการณ์จากเรื่องที่อ่านไปประยุกต์ใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้

การพิจารณาคุณค่าด้านวรรณศิลป์


วรรณศิลป์เป็นองค์ประกอบที่สำคัญซึ่งช่วยส่งเสริมให้วรรณกรรมมีคุณค่าน่าสนใจ คำว่า “วรรณศิลป์” หมายถึง ลักษณะดีเด่นทางด้านวิธีแต่ง การเลือกใช้ถ้อยคำ สำนวน ลีลา
ประโยค และความเรียงต่าง ๆ ที่ประณีต งดงาม หรือมีรสชาติเหมาะสมกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี วรรณกรรมที่ใช้วรรณศิลป์ชั้นสูงนั้นจะทำให้คนอ่านได้รับผลในทางอารมณ์ความรู้สึก
เช่น เกิดความสดชื่น เบิกบาน ขบขัน เพลิดเพลิน ขบคิด เศร้าโศก ปลุกใจ หรืออารมณ์อะไร ก็ตามที่ผู้เขียนต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในตัวผู้อ่าน นั่นคือ วรรณศิลป์ในงานเขียน ทำให้ผู้อ่าน เกิดความรู้สึกในจิตใจและเกิดจินตนาการสร้างภาพคิดในสมองได้ดี

การวิเคราะห์งานประพันธ์จึงควรพิจารณาวรรณศิลป์เป็นอันดับแรกแล้วจึงวิจารณ์ว่ามีคุณค่าหรือน่าสนใจเพียงใดหากงานประพันธ์นั้นเป็นประเภทบทร้อยกรอง ผู้อ่านที่จะ
วิเคราะห์วิจารณ์ ควรมีความรู้บางอย่าง เช่น รู้บังคับการแต่งบทร้อยกรองรู้วิธีใช้ภาษาของกวี รู้วิธีสร้างภาพฝันหรือความคิดของกวี เป็นต้น ความรู้ดังกล่าวนี้จะช่วยให้เข้าใจบทร้อยกรอง
ได้มากขึ้น

ลองอ่านบทร้อยกรองง่าย ๆ สักเรื่องหนึ่ง เพื่อทดลองวิเคราะห์วิจารณ์กัน

《静夜思》

床前明月光,疑是地上霜。
举头望明月,低头思故乡。

唐朝诗人 李白 字太白


วิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าด้านวรรณศิลป์

บทกวี 静夜思 หรือความคิดคำนึงในคืนสงบของหลี่ไป๋บทนี้เป็นบทที่มีชื่อเสียงมาก เป็นบทกวีที่ใช้ถ้อยคำเรียบง่ายแต่กินใจลึกซึ้งในค่ำคืนหนึ่งอันหนาวเหน็บของฤดูใบไม้ร่วง กวีผู้จากบ้านเกิดไปอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า รู้สึกเดียวดาย ได้พรรณนาความงามของแสงจันทร์ที่สาดส่องเข้ามาในห้อง กระทบพื้นที่พราวพร่างด้วยน้ำค้างแข็ง แสงอันกระจ่างพราวทั้งพระจันทร์และน้ำค้างสร้างอารมณ์เหงาเศร้าให้กวีหวั่นไหวคิดคำนึงถึงบ้านเกิดที่จากมาอย่างจับใจ

บทร้อยกรองที่ใช้ถ้อยคำช่วยสร้างความรู้สึกและมีเนื้อหาสร้างสรรค์จินตนาการได้เช่นนี้ เรียกว่า “วรรณศิลป์”
ถ้าเราเขียนรูปภาพได้ ลองเขียนภาพฝันตามจินตนาการของกวีไปด้วยก็ได้

การวิจารณ์คุณค่าด้านเนื้อหาสาระ แนวความคิด และกลวิธีนำเสนอ


งานประพันธ์ที่มีคุณค่าน่าสนใจนั้น นอกจากจะมีวิธีใช้ถ้อยคำภาษาและแสดงชั้นเชิง การแต่งอย่างดีแล้ว ยังต้องวิเคราะห์ถึงเนื้อหาสาระและแนวความคิดที่มีประโยชน์ต่อคนอ่านอีกด้วย

เนื้อหาสาระที่ดีนั้นอาจเป็นในแง่การให้ความรู้ ให้ความคิดเห็น คติ คำสอน ข้อเตือนใจ ชี้ช่องให้มองเห็นความจริง ความดี ชี้ทางแก้ปัญหา แนะสิ่งที่ควรปฏิบัติหรือ สิ่งที่ควรละเว้น กลวิธีการเขียนอาจชี้แนะโดยตรงหรือทางอ้อมก็ได้แล้วแต่กลวิธีของผู้เขียน ว่าจะทำได้แนบเนียนน่าสนใจเพียงใด
ข้อที่น่าสังเกตคือ งานเขียนที่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องสอนศีลธรรมหรือคุณธรรมโดยตรง ผู้เขียนอาจใช้กลวิธีต่าง ๆ เพื่อให้คนอ่านเกิดความคิดได้ด้วยตนเอง ดังนั้นก่อนการวิจารณ์
คนอ่านจึงต้องพยายามทำความเข้าใจ จับความหมายและสรุปแนวความคิดทั้งหลายของผู้เขียนให้ได้เสียก่อน
หลักสำคัญมีอยู่อย่างหนึ่งว่า งานประพันธ์ที่ดีควรมีเนื้อหาสาระมุ่งสร้างสรรค์ มิใช่มุ่งทำลาย

《陋室铭》  刘禹锡

山不在高,有仙则名。
Shān bú zài gāo, yǒu xiān zé míng.
水不在深,有龙则灵。
Shuǐ bú zài shēn, yǒu lóng zé líng.
斯是陋室,惟吾德馨。
Sī shì lòushì, wéi wǔ dé xīn.
苔痕上阶绿,草色入帘青。
Tāihén shàng jiē lǜ, cǎosè rù lián qīng.
谈笑有鸿儒,往来无白丁。
Tānxiào yǒu hóngrú, wǎnglái wú báidīng.
可以调素琴,阅金经。
Kěyǐ tiáo sùqín, yuè jīnjīng.
无丝竹之乱耳,无案牍之劳形。
Wú sīzhú zhī luàn’ěr, wú àndú zhī láoxíng.
南阳诸葛庐,西蜀子云亭。
Nányāng Zhūgě lú, xīshǔ Zǐyún tíng.
孔子云:“何陋之有”?
Kóngzǐ yún hé lòu zhī yǒu

ภูเขา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสูง ขอเพียงแต่มีทวยเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นที่เลื่องลือได้ น้ำ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความลึก ขอเพียงแต่มีพญามังกรก็จะปรากฏถึงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ นี่คือบ้านที่โกโรโกโสหลังหนึ่ง มีเพียงแต่คุณธรรมอันสูงส่งที่เลื่องลือระบือไปทั้งใกล้ไกลทุกหนแห่งของฉัน (เต็มล้นอยู่ภายใน) ร่องรอยตะไคร่น้ำเขียวขจี แผ่ขยายขึ้นไปบนขั้นบันได ดุจสีหญ้าเขียวชอุ่มฉายสู่ภายในม่าน ปัญญาชนผู้มีความรู้ลึกซึ้งและกว้างขวางพูดคุยกันอย่างมีอารมณ์ขันสนุกสนาน ไม่มีชาวบ้านธรรมดาที่ไปมาหาสู่ สามารถบรรเลงขิมที่ไม่มีการเสริหรือเติมแต่ง และสามารถอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนาอันน่าเกรงขามได้ ไม่ต้องให้เสียงดนตรีที่อึกทึกครึกโครมมารบกวนจิตใจ และไม่ต้องถูกงานราชการรัดตัว ที่หนานหยางมีกระท่อมหญ้าของขงเบ้ง ที่ซีสู่มีศาลาจื่ออวิ๋นถิงของหยางสยง ขงจื่อกล่าวว่า “(ผู้มีคุณธรรมความดีอาศัยอยู่ที่นี่) แล้วจะมีสิ่งใดที่โกโรโกโสอีกเล่า?”



การพิจารณาคุณค่าด้านสังคม


การพิจารณาคุณค่าด้านสังคมจากวรรณกรรม ผู้อ่านต้องค้นหาสาระก่อนว่าผู้เขียน ต้องการเสนอ “สาระ” อะไรให้กับผู้อ่านเป็นด้านดีหรือด้านเสียของสังคมและผู้อ่าน ต้องพิจารณาว่า พึงปฏิบัติอย่างไร หรือได้แนวคิดอะไรบ้างจากการอ่านวรรณกรรมนั้น
วรรณกรรมทุกเรื่องจะสะท้อนภาพชีวิตและสังคม ตัวอย่างเช่น

วรรณกรรมเรื่อง 《西游记》ภาพสะท้อนจากนิยายไซอิ๋ว
- สะท้อนแนวคิดของลัทธิเต๋า
- มีการรวมความเชื่อจากหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน เช่น พุทธ เต๋า ความเชื่อชาวบ้าน เป็นต้น
- มุ่งสั่งสอนผู้คนไม่ให้ย้อท้อต่ออุปสรรค ดั่ง คณะเดินทางที่ต้องฝ่าฟันอันตรายไปอัญเชิญพระไตรปิฎก

การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

งานประพันธ์ย่อมประกอบด้วยถ้อยคำ เนื้อหาสาระและกลวิธีการเขียนแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำงานประพันธ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ในแง่จดจำถ้อยคำสำนวนไปใช้เพื่อความสนุกสนาน ความไพเราะ ส่วนเนื้อหาสาระอาจนำไปใช้ในแง่ได้คติข้อเตือนใจ ได้ความคิดเห็นที่มีประโยชน์ต่อชีวิต ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ


การนำคุณค่าของงานประพันธ์ไปใช้ได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของผู้อ่าน ที่จะวิเคราะห์เพื่อเลือกจดจำ คิดและนำไปใช้ตามกำลังความคิดของตน

 

 

การวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยกรอง

 

ในการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยกรองมีหลักการคร่าวๆดังต่อไปนี้

1.ทำความรู้จักกับประวัติของผู้แต่ง 作者简介
2.ภูมิหลังในการแต่ง 作品写作背景简介
3.ตีความบทร้อยกรอง  ทำการแปลความหมาย ตีความสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ
4.วิเคราะห์กลวิธีในการแต่ง 
5.วิเคราะห์ลักษณะเด่นของคำประพันธ์ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์รสวรรณกรรม

ในการวิเคราะห์คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองโบราณ มีความสำคัญต่อการศึกษาวรรณคดีโบราณของจีนเป็นอย่างยิ่ง และเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์วรรณกรรมด้วย แล้วจะทำการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยกรองโบราณอย่างไร?

อันดับแรกเราจะต้องทำความเข้าใจเนื้อหาของบทร้อยกรองอย่างถี่ถ้วน ทุกตัวอักษร ทุกประโยค ให้ลึกซึ้ง ถ้าหากเราไม่เข้าใจว่าบทกลอนนั้นพยายามสื่อสารอะไร เราจะไม่มีวันเข้าถึงรสวรรณกรรมที่ผู้แต่งต้องการสื่อสารได้อย่างครบถ้วน ในการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยกรองโบราณ ยกตัวอย่างเช่น 《通训诂》 《明典故 สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการวิเคราะห์วรรณกรรมก็คือภาษาที่ใช้ ดังนั้นในขั้นพื้นฐานเราจะมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงคำแปลในทุกตัวอักษรให้เข้าใจก่อน และบทร้อยกรองโบราณมักจะใช้การอุปมาอุปไมยจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวที่นำมาแต่งเป็นไรกรองอย่างสังเขป 

คำโบราณกล่าวไว้ว่า “诗无达诂” สำหรับบทร้อยกรอง 1 บทนั้น อุปมาอุปไมยไว้ว่า ผู้ที่อ่านก่อนได้คือผู้ที่มีความรู้ได้อ่านบทความของผู้มีความรู้เช่นกัน ( 仁者见仁,智者见智) ซึ่งก็คือผู้อ่านจะต้องมีความรู้อยู่บ้างถึงจะสามารถตีความวิเคราะห์ความหมายของบทร้อยกรองได้อย่างเข้าใจถ่องแท้

 

พื้นฐานในการอ่านบทร้อยกรองโบราณ เราจะต้องทำความเข้าใจถึงพื้นฐานอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

1.การทำความเข้าใจภูมิหลังของผู้แต่ง

หากต้องการตีความเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง อันดับแรกเราจะต้องทำความเข้าใจว่าผู้แต่งคือใคร เกิดในยุคสมัยใด เมิ่งจืัอได้กล่าวถึงวิธีการวิเคราะห์วรรณกรรม 知人论世 ความหมายของ 知人论世 ก็คือ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิหลังของผู้แต่ง ความคิด ความเชื่อ คุณธรรมประจําใจ สิ่งที่เกิดขึ้นหรือเหตุการณ์ในชีวิตที่ร่วมสมัยกับสมัยนั้น เพราะจะส่งผลต่อความเข้าใจของผู้ที่อ่านวรรณกรรมเป็นอย่างมาก 

เช่นหากเราได้ทำความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถังสมัยกลางที่ 柳宗元 ได้ประสบพบเจอ เราก็อาจจะเข้าใจบทกลอน 《渔翁》 ถึงการละทิ้งแห่งวัฏสงสาร และการใช้ดินฟ้าอากาศสภาพภูมิประเทศมาเปรียบเทียบอารมณ์และความรู้สึก 

2.ทำความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะที่ใช้ในการแต่งบทร้อยกรอง

 

2.1 ทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้าง

สำหรับบทร้อยกรองที่ค่อนข้างสั้น เช่น 律诗 หรือ 绝句 สามารถทำความเข้าใจได้ในระดับประโยค สำหรับบทร้อยกรองที่ค่อนข้างยาวสามารถแบ่งเป็นระดับวรรคตอน

 

ถ้านับตามช่วงเวลา สามารถแบ่งประเภทของกวีนิพนธ์จีนตามยุคสมัย ได้ดังนี้

ช่วงที่ 1 ยุคโจว-ฉิน(周秦)

1. กลอนตำนาน หรือ ซรฺือจิง(詩經/诗经) เป็นกวีนิพนธ์ยุคแรกที่ถูกค้นพบตามประวัติศาสตร์จีน เป็นกลอนที่ไม่เป็นแบบแผน ไม่มีหลักการในการสัมผัส และไม่ได้กำหนดความยาวของบทกลอน แต่ปรากฏชนิดของกวีที่ในแต่ละบรรทัดมีความยาวสี่พยางค์เท่ากันหมด ลักษณะคล้ายคลึงกับ "กลอนสี่" ของไทย
2. กลอนฉู่(楚辭/~辞) ใช้ร่วมกับ "ซรฺือจิง" เป็นคำประพันธ์ที่ผสมผสานร้อยแก้วและร้อยกรองเพื่อใช้ในการขับร้องและเป็นบทสวดในพิธีกราบไหว้บูชาในแคว้นฉู่(荆楚) บางทีคนจีนจะเรียกกวียุคนี้ว่ากลอนเซา(คล้าย "ลำนำ/ร่าย" ของไทย) เพราะมีผลงานเด่นของกวีเอกและเสนาบดี ชวฺีเยวฺี๋ยน(屈原) ในบทกวีชื่อ "หลีเซา" (離騷/离骚) ซึ่งเป็นร่ายยาว 373 บรรทัด(=2,477 ตัวอักษร)

นักวิชาการเชื่อว่าในช่วงนี้มีบทกวีเกิดขึ้นมากมายแต่ได้ถูก อิ๋งเจิ้ง(嬴政) หรือ ฉินสรฺื่อหฺวาง(秦始皇) สั่งเผาและทำลายจนสูญสิ้นเหลือแต่เพียง "ซรฺือจิง" ที่ยังเล็ดลอดมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงที่ 2 ยุคฮั่น(漢/汉)

3. กลอนฝู้(賦/赋) เป็นร่ายที่ประยุกต์จากกลอนฉู่ โดยใช้คำที่สละสลวยในงานประพันธ์ แต่กลอนฝู้จะไม่ใช้เป็นกลอนสวด
4. กลอนสำนักเพลง(樂府/乐~) เป็นบทประพันธ์รวมมิตร ได้แก่ กลอนสี่ ร่าย ลำนำ และปรากฏกลอนห้า(1 บรรทัดมี 5 พยางค์) เป็นครั้งแรก
5. กลอนสิบเก้าบท(古詩十九首/~诗~) เนื่องจากในแต่ละบรรทัดมีความยาว 5 พยางค์ แต่ยังไม่มีบังคับวรรณยุกต์หรือเสียงหนักเบา จึงคล้าย "กาพย์ยานี ๑๑" ของไทย แต่หนึ่งบรรทัดกลอนจีน เทียบเท่า หนึ่งวรรคกลอนไทย และใน"กลอนสิบเก้าบท" ไม่มีการใช้ 6 พยางค์ เหมือน "กาพย์ยานี ๑๑" ดังนั้น เราอาจเรียก "กลอนสิบเก้าบท" แบบเทียบเคียงว่า "กาพย์ห้า"

ช่วงที่ 3 ยุคหกราชวงศ์(六朝)

6. กาพย์ห้า โดยเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับ "ทิวทัศน์"
7. กาพย์ห้า เปลี่ยนเนื้อหา "ขึ้นเรื่องใหม่"

ช่วงที่ 4 ยุคถัง(唐詩/~诗)

8. กลอนบท 5 พยางค์(五言律詩/~诗) เป็นกลอนบังคับสัมผัสและวรรณยุกต์หรือเสียงหนักเบา มีการกำหนดให้ความยาวหนึ่งบทเท่ากับแปดบรรทัด และอาจเรียกกลอนชนิดนี้แบบเทียบเคียงว่า "โคลงห้า/ฉันท์ห้า"
9. กลอนบท 7 พยางค์(七言律詩/~诗) เป็นกลอนบังคับสัมผัสและวรรณยุกต์หรือเสียงหนักเบา มีการกำหนดให้ความยาวหนึ่งบทเท่ากับแปดบรรทัด และอาจเรียกกลอนชนิดนี้แบบเทียบเคียงว่า "โคลงเจ็ด/ฉันท์เจ็ด"
10. กลอนสี่บรรทัด(絕句/绝~)
11. กลอนโบราณ(古詩/~诗)

ช่วงที่ 5 ยุคห้าราชวงศ์สิบอาณาจักร(五代十國/~国) และซ่ง(宋)

12. กลอนเสี่ยวลิ่ง(小令) เป็นกลอน "สือ" (詞/词) หรือ "กลอนคำ" ประเภทสั้น
13. กลอนม่านสือ(慢詞/~词) เป็นกลอน "สือ" (詞/词) หรือ "กลอนคำ" ประเภทยาว
14. กลอนหย่งอู้ (詠物/咏~) เป็นกลอน "สือ" (詞/词) หรือ "กลอนคำ" ที่พรรณนาเกี่ยวกับวัตถุสิ่งของ
15. กลอนโบราณและกลอนบท

"กลอนคำ" เป็นการประยุกต์ใช้ "กลอนบท" ของยุคถัง เกิดเป็นโครงสร้างที่หลากหลายซึ่งแต่ละโครงสร้างจะมีชื่อเรียกเฉพาะที่เรียกว่า "สือผาย" (詞牌/词~) และอาจเทียบเคียงลักษณะ "กลอนคำ" ของจีนได้ประมาณ "กลบท" ของไทย

ช่วงที่ 6 ยุคหยวน-ชิง(元明清)

16. กลอนสานฉวฺี่ (散曲) เป็นกลอน "ฉวฺี่" (曲) หรือ "กลอนเพลง" ของหยวน

17. กลอนในยุคหมิงและชิง เป็นการรวบรวม "กลอนบท" ยุคถัง "กลอนคำ" ของซ่ง "กลอนเพลง" ของหยวน "กลอนโบราณ" และกลอนในยุคก่อนๆ นำมาวิจารณ์ ทำใหม่ และมีการพัฒนาต่อยอดด้วย

ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กลอนยุคเก่า (古代) และกลอนยุคปัจจุบัน (现代) ที่ยึดเป็นมาตรฐานและเป็นที่นิยมของกลอนยุคเก่า คือ "กลอนจิ้นถี" (近体诗) เป็น "กลอนบท" ในยุคราชวงศ์ถัง ซึ่งแบ่งเป็นกลอน 5 และ กลอน 7 ความยาว 4 บรรทัด และ 8 บรรทัด(เต็มบท) การสัมผัส(สระ+ตัวสะกด)(押韵) จะมีในคำสุดท้ายของบรรทัดคู่ซึ่งเหมือนกับสัมผัสนอกของกลอนไทย ส่วนสัมผัสในจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีปกติจะเป็นการใช้คำสัมผัสแค่ในคำสุดท้ายของบรรทัดที่ 1 และ 2 เท่านั้น แต่ส่วนที่ยากคือในแต่ละบรรทัดจะมีการบังคับเสียงวรรณยุกต์ผิงเจ้อ (平仄) เสียงผิง(平) คือ เสียงหนึ่งกับเสียงสองในภาษาจีนกลางปัจจุบัน เสียงเจ้อ(仄) คือ เสียงที่เหลือ รวมทั้ง 入声 ที่ไม่มีใช้ในจีนกลางแล้วแต่คงหลงเหลือในภาษาจีนบางสำเนียงเท่านั้น เช่น กวางตุ้ง ฮักกา(แคะ) ฯลฯ ส่งผลให้บทกวีที่มีสัมผัสและบังคับครบถ้วนสมบูรณ์ในสมัยโบราณ กลายเป็นบทความธรรมดาในสมัยปัจจุบันเมื่อใช้ภาษาจีนกลางในการถอดเสียง และเพื่อแก้ปัญหานี้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพจนานุกรมคำสัมผัสซึ่งมีทั้งหมด 106 หมวด

แผนผังการสัมผัสนอกในและบังคับวรรณยุกต์ของ "กลอน 5"

ตัวอย่าง :

กลอน 5 พยางค์ 4 บรรทัด (五言绝句)

王之涣《登鹳雀楼》
Wáng Zhī Huàn “dēng guàn què lóu”

仄仄平平仄
白日依山尽
bái rì yī shān jǐn

平平仄仄平
黄河入海流
huáng hé rù hǎi liú

平平平仄仄
欲穷千里目
yù qióng qiān lǐ mù

仄仄仄平平
更上一层楼
gèng shàng yī céng lóu

บรรทัดแรก เป็นบังคับวรรณยุกต์ตามหลักการ ไม่ใช่วรรณยุกต์ที่ถอดจากกลอน
บรรทัดที่สาม เป็นพินอินในภาษาจีนกลางปัจจุบัน
ขีดเส้นใต้ คือ ตำแหน่งที่เป็นได้ทั้งผิงและเจ้อ
ตัวหนา คือ คำสัมผัส บังคับ "เสียงผิง" เท่านั้น

กลอนบท 5 พยางค์ (8 บรรทัด) (五言律诗)
(仄)仄仄平平,
平平仄仄平。
(平)平平仄仄,
(仄)仄仄平平。
(仄)仄平平仄,
平平仄仄平。
(平)平平仄仄,
(仄)仄仄平平。

(ในวงเล็บ) คือ ตำแหน่งที่เป็นได้ทั้งผิงและเจ้อ
ตัวหนา คือ คำสัมผัส บังคับ "เสียงผิง" เท่านั้น

เช่น

许浑《秋日赴阙题潼关驿楼》

红叶晚萧萧,长亭酒一瓢。
残云归太华,疏雨过中条。
树色随山迥,河声入海遥。
帝乡明日到,犹自梦渔樵。

กลอน 7 พยางค์ 4 บรรทัด (七言绝句)

李白《早发白帝城》(十五删韵)
Lǐ Bái “zǎo fā bái dì chéng”(shíwǔ shān yùn)

(平)平(仄)仄仄平平
朝 辞 白 帝彩云间
cháo cí bái dì cǎi yún jiān

(仄)仄平平仄仄平
千 里江陵一日还
qiān lǐ jiāng líng yī rì hái

(仄)仄(平)平平仄仄
两 岸 猿 声啼不住
liǎng'àn yuán shēng tí bù zhù

(平)平(仄)仄仄平平。
轻 舟 已 过万重山
qīng zhōu yǐ guò wàn chóng shān

บรรทัดแรก เป็นบังคับวรรณยุกต์ตามหลักการ ไม่ใช่วรรณยุกต์ที่ถอดจากกลอน
บรรทัดที่สาม เป็นพินอินในภาษาจีนกลางปัจจุบัน
(ในวงเล็บ) คือ ตำแหน่งที่เป็นได้ทั้งผิงและเจ้อ
ตัวหนา คือ คำสัมผัส บังคับ "เสียงผิง" เท่านั้น

กลอนบท 7 พยางค์ (8 บรรทัด) (七言律诗)

(平)平(仄)仄仄平平,
(仄)仄平平仄仄平。

(仄)仄(平)平平仄仄,
(平)平(仄)仄仄平平。

(平)平(仄)仄平平仄,
(仄)仄平平仄仄平。

(仄)仄(平)平平仄仄,
(平)平(仄)仄仄平平。

(ในวงเล็บ) คือ ตำแหน่งที่เป็นได้ทั้งผิงและเจ้อ
สัมผัสนอกอยู่ท้ายบรรทัดคู่

เช่น:韩愈《左迁至蓝关示侄孙湘》

一封朝奏九重天,夕贬潮州路八千。

欲为圣明除弊事,肯将衰朽惜残年。

云横秦岭家何在?雪拥蓝关马不前。

知汝远来应有意,好收吾骨瘴江边。

 

2.2 วิเคราะห์วรรณศิลป์ของบทร้อยกรอง

โดยเราสามารถสังเกตการใช้คำ 词 และเสียงของสัมผัส 押韵 ในการแต่งบทร้อยกรองนั้น และซาบซึ้งดื่มด่ำไปกับภาษาที่ผู้แต่งใช้ ตีความเป็นภาพ หรือรู้สึกซาบซึ้ง สัมผัส สะเทือน 

2.3 วิเคราะห์ด้วยการเปรียบเทียบกับวรรณกรรมที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

ในการเปรียบเทียบเราจะต้องยึดความหมายและวรรณศิลป์ของวรรณกรรมนั้นเป็นหลัก เช่น

《登岳阳楼》ของ 杜甫 และ 《临洞庭》ของ 孟浩然 โดยมีเนื้อหาที่พรรณนาถึงถ้ำ ถ้าหากเปรียบเทียบออกมาก็จะพบว่า 《登岳阳楼》 สะท้อนความเป็นห่วงต่อสภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองตัวเอง สิ่งที่ประชาชนต้องพบเจอออกมาเป็นความรู้สึก แต่ว่า 《临洞庭》 สะท้อนเพียงสิ่งที่ผู้ประพันธ์ได้พบเจอเพียงคนเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบออกมาเราจะพบมิติด้านต่างๆของสิ่งที่นักประพันธ์มี และทำความเข้าใจได้อย่างเห็นภาพ

2.4 วิเคราะห์คุณค่าที่ได้รับ

ในการอ่านบทร้อยกรอง นั้นเราสามารถวิเคราะห์คุณค่าที่ตีความโดยตัวเราเองออกมาได้ โดยจะต้องเรียบเรียงความรู้สึกที่เราได้รับออกมาเป็นภาษาพูดหรือการเขียนตามที่เราเข้าใจได้ 

2.5 ทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าทางวรรณคดี

ทางนี้เราจะต้องยึดแนวทางของคำประพันธ์นั้น เช่นหากเราทำความเข้าใจบทร้อยกรอง  《橘颂》 ซึ่งความสำคัญของบทร้อยกรองนี้ก็คือ เป็นบทร้อยกรองจีนประเภท 咏物诗 บทแรกที่มีความครบถ้วนของความหมาย และสามารถทำความเข้าใจกลวิธีการประพันธ์ประเภท 托物言志 ก็คือการพรรณนาปณิธานความรู้สึกของตัวเองผ่านสิ่งต่างๆรอบตัว ซึ่งส่งผลกับบทร้อยกรองประเภท 咏物诗 ในยุคหลังอย่างมาก 

 

โครงสร้างในการวิเคราะห์ (ใช้ในการตอบคำถามการเรียนวิชาวรรณกรรม)

1.ลักษณะของบทร้อยกรองคืออะไร 

ต้องวิเคราะห์ 身份+性格

2.ความหมายและความหมายแฝงของบทร้อยกรองคืออะไร

ต้องวิเคราะห์ ความหมายโดยพื้นฐาน表层含义และความหมายเชิงลึก深层含义 โดยสามารถยกตัวอย่างประโยคของบทร้อยกรองและตีความเอาความหมายทั้ง 2 ด้าน

3.สิ่งที่บทร้อยกรองพรรณนา

ต้องวิเคราะห์ เนื้อหาของบทร้อยกรองและกลวิธีในการสื่อความ

4.การตีความอารมณ์และความนึกคิดของผู้แต่ง

ต้องวิเคราะห์ ลักษณะของบทร้อยกรองและความรู้สึกที่ได้รับ

5.คำที่ใช้กับความหมายที่สื่อออกมา

ต้องวิเคราะห์ ความหมายแฝง กลวิธีการเขียน และความพยายามในการสื่อสาร (ระดับประโยค + ความหมายโดยรวม + อารมณ์และความรู้สึก)

6.กลวิธีในการใช้คำ

ต้องวิเคราะห์ ความสามารถในการเปรียบเทียบ วิเคราะห์ความสามารถในการสื่อสาร (ระดับประโยค + ความหมายโดยรวม + อารมณ์และความรู้สึก)

7.การลิ้มรสวรรณกรรม

ต้องวิเคราะห์ เนื้อหาที่เสือกมา กลวิธีการพรรณนา และอารมณ์ความรู้สึกของวรรณกรรมนั้น

8.สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของบทกลอน เช่น

忧国忧民之感慨
国破家亡之痛楚
游子逐客之凄凉
征夫思妇之幽怨
怀才不遇之寂寞
报国无门之激愤
建功立业之豪迈
自由悠闲之恬淡
秀美山河之热爱
亲情友情之真挚
归耕隐居之乐
黑暗官场之苦
离别思念之绪
贬官谪居之恨



แนวการวิเคราะห์วรรณกรรมประเภทร้อยแก้ว


วรรณกรรมประเภทร้อยแก้วในปัจจุบันที่น่าสนใจ ได้แก่ เรื่องสั้น นวนิยาย และสารคดี วรรณกรรมเหล่านี้มีองค์ประกอบต่างกัน ผู้อ่านจำเป็นต้องทราบองค์ประกอบต่าง ๆ เพื่อที่จะพิจารณาวรรณกรรมได้อย่างละเอียด และได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

การอ่านและวิเคราะห์นวนิยาย
คำว่า “นวนิยาย” (Novel) หมายถึง หนังสือที่เขียนเป็นร้อยแก้ว เล่าถึงชีวิตในแง่ต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น ด้านความคิด ความประพฤติและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต จริงของมนุษย์ ชื่อคน หรือพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นเรื่องสมมติทั้งสิ้น นวนิยายแบ่งเป็น ๖ ประเภท ดังนี้
1. นวนิยายอิงประวัติศาสตร์
2. นวนิยายวิทยาศาสตร์ 
3. นวนิยายลึกลับ ฆาตกรรม นักสืบ สายลับ
4. นวนิยายเกี่ยวกับภูติผีปิศาจ
5. นวนิยายการเมือง
6. นวนิยายด้านสังคมศาสตร์ นวนิยายที่จะสะท้อนสภาพสังคม

องค์ประกอบของนวนิยาย
นวนิยายแต่ละเรื่องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
1. โครงเรื่อง (Plot) หมายถึง ขอบข่ายหรือโครงของเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกัน
2. เนื้อเรื่อง (Story) หมายถึง เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้เขียนถ่ายทอดยกมาทำให้ ผู้อ่านทราบว่าเรื่องที่อ่านนั้นเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์ หรือความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครอย่างไร เรื่องเริ่มต้นอย่างไร ดำเนินไปอย่างไร และจบอย่างไร
3. ฉาก (Setting) คือ สถานที่เกิดเหตุการณ์ในเรื่องอาจเป็นประเทศ เมือง หมู่บ้าน ทุ่งนาในโรงภาพยนตร์ ฯลฯ
4. แนวคิด (Theme) ผู้แต่งจะสอดแทรกแนวคิดไว้อย่างชัดเจนในคำพูด นิสัย พฤติกรรม หรือบทบาทของตัวละคร หรือพบได้ในการบรรยายเรื่อง
5. ตัวละคร (Characters) ผู้แต่งเป็นผู้สร้างตัวละครขึ้นมา โดยตั้งชื่อให้ แล้วกำหนดรูปร่าง หน้าตา เพศ วัย นิสัยใจคอ บุคลิกภาพ ตลอดจนกำหนดบทบาท และ
โชคชะตาของตัวละครเหล่านั้นด้วย

หลักการอ่านและพิจารณานวนิยาย ดังนี้
1. โครงเรื่องและเนื้อเรื่อง การแสดงเนื้อเรื่องคือการเล่าเรื่องนั่นเอง ทำให้ผู้อ่านทราบว่าเป็นเรื่องราวของใคร เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร เมื่อใด มีเหตุการณ์อะไร ส่วนโครงเรื่องนั้น คือส่วนที่เน้นความเกี่ยวข้องระหว่างตัวละครในช่วงเวลาหนึ่งซึ่งเป็นเหตุผลต่อเนื่องกัน
โครงเรื่องที่ดีมีลักษณะดังนี้
1.1 มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องและระหว่างบุคคลในเรื่อง อย่างเกี่ยวเนื่องกันไปโดยตลอด
1.2 มีข้อขัดแย้งหรือปมของเรื่องที่น่าสนใจ เช่น ความขัดแย้งของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การต่อสู้ระหว่างอำนาจอย่างสูงกับอำนาจอย่างต่ำในจิตใจ การชิงรักหักสวาท ฯลฯ
ข้อขัดแย้งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัวละครแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาอย่างน่าสนใจ
1.3 มีการสร้างความสนใจใคร่รู้ตลอดไป (Suspense) คือการสร้างเรื่องให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้ อยากอ่านต่อ อาจทำได้หลายวิธี เช่น การปิดเรื่องที่ผู้อ่านต้องการทราบไว้ก่อน การบอกใบ้ให้ผู้อื่นทราบว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในตอนต่อไป การจบเรื่องแต่ละตอน ทิ้งปัญหาให้ผู้อ่านอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวต่อไป
1.4 มีความสมจริง (Realistic) คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล มิใช่เหตุประจวบหรือเหตุบังเอิญที่มีน้ำหนักเบาเกินไป เช่น คนกำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน
หาทางออกหลายอย่างแต่ไม่สำเร็จ บังเอิญถูกสลากกินแบ่งจึงพ้นความเดือดร้อนไปได้


2. กลวิธีในการดำเนินเรื่อง จะช่วยให้เรื่องน่าสนใจและเกิดความประทับใจ ซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น
2.1 ดำเนินเรื่องตามลำดับปฏิทิน คือเริ่มตั้งแต่ตัวละครเกิด เติบโตเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม สาว แก่ แล้วถึงแก่กรรม
2.2 ดำเนินเรื่องย้อนต้น เป็นการเล่าแบบกล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนท้ายก่อนแล้วย้อนกลับไปเล่าตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจบ
2.3 ดำเนินเรื่องสลับไปมา คือการเริ่มเรื่องในตอนใดตอนหนึ่งก่อนก็ได้ เช่น อาจกล่าวถึงอดีตแล้วกลับมาปัจจุบันอีก หรือการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดต่างสถานที่สลับกันไปมา
ผู้อ่านควรพิจารณาว่ากลวิธีในการดำเนินเรื่องของผู้เขียนแต่ละแบบนั้นมีผลต่อเรื่องนั้นอย่างไร ทำให้เรื่องน่าสนใจชวนติดตาม และก่อให้เกิดความประทับใจหรือไม่ หรือว่าก่อให้เกิดความ
สับสน ยากต่อการติดตามอ่าน


3. ตัวละคร ผู้อ่านสามารถพิจารณาตัวละครในนวนิยายในด้านต่อไปนี้
3.1 ลักษณะนิสัยของตัวละคร
1) มีความสมจริงเหมือนคนธรรมดาทั่วไปคือ มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัวเอง ไม่ใช่ว่าดีจนหาที่ติไม่ได้ หรือเลวจนหาที่ชมไม่พบ
2) มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่สอดคล้องกับลักษณะนิสัยของตน ไม่ประพฤติปฏิบัติในที่หนึ่งอย่างหนึ่งและอีกที่หนึ่งอย่างหนึ่ง


3) การเปลี่ยนลักษณะนิสัยของตัวละครต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล
3.2 บทสนทนาของตัวละคร บทสนทนาที่ดีควรพิจารณา ดังนี้
1) มีความสมจริง คือสร้างบทสนทนาให้สอดคล้องกับฐานะและลักษณะ ของตัวละครในเรื่อง
2) มีส่วนช่วยให้เรื่องดำเนินต่อไปได้
3) มีส่วนช่วยให้รู้จักตัวละครในด้านรูปร่างและนิสัยใจคอ
4) มีส่วนช่วยให้เรื่องน่าอ่าน มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะบทสนทนาที่คมคาย หรือมีอารมณ์ขัน


4 ฉาก หมายถึง สถานที่และเวลาที่เรื่องนั้น ๆ เกิดขึ้น มีหลักการพิจารณา ดังนี้
4.1 สอดคล้องกับเนื้อเรื่องและช่วยสร้างบรรยากาศ เช่น บ้านร้างมีใยแมงมุม จับอยู่ตามห้อง ฯลฯ น่าจะเป็นบ้านที่มีผีสิง คืนที่มีพายุฝนตกหนักน่าจะเป็นฉากสำหรับ ฆาตกรรม
4.2 ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง ฉากที่มีความถูกต้องตามสภาพภูมิศาสตร์ และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ จะช่วยเสริมให้นวนิยายเรื่องนั้นมีคุณค่าเพิ่มขึ้น


5. สารัตถะหรือสารของเรื่อง หมายถึง แนวคิด จุดมุ่งหมายหรือทัศนะของผู้แต่งที่ต้องการสื่อมาถึงผู้อ่าน ผู้แต่งอาจจะบอกผู้อ่านตรง ๆ หรือให้ตัวละครเป็นผู้บอกหรือ อาจปรากฏที่ชื่อเรื่อง แต่โดยมากแล้วผู้แต่งจะไม่บอกตรง ๆ ผู้อ่านต้องค้นหาสาระของเรื่องเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

error: Content is protected !!